096-263-6545, 02-157-2485
ซื้อ ขาย ไม้จ๊อย ราคา ไม้โครง ไม้ประสาน บันได วงกบ
การวัดระยะและการคำนวณปริมาตรไม้

การวัดระยะและการคำนวณปริมาตรไม้

สมัยก่อน ประเทศไทยของเรา นิยมใช้มาตราวัดระยะแบบไทยๆ เช่น กระเบียด นิ้ว คืบ ศอก วา เส้น ปัจจุบันมาตราชั่ง ตวง วัด ในทางราชาการและความนิยมของประชาชน ยังเป็นที่สับสนอยู่มาก หวังว่ารัฐบาล คงจะปรับปรุงให้มีมาตรฐานเดียวกัน หรือประกาศให้แน่ชัดว่า ให้ใช้ระบบใดกันแน่ มีการใช้แบบผสมปนเปกันอยู่ เช่น การวัดระยะแบบ Metric System ของ ฝรั่งเศส เช่น เป็น เซนติเมตร เป็นเมตร และระบบอังกฤษ มีการวัดระยะเป็น นิ้ว เป็นฟุต ของไทยมีการวัดระยะเป็น ศอก เป็นวาหรือเป็นเส้น

โดยเฉพาะงานไม้ เราจะเห็น การซื้อขายไม้ มีทั้ง เป็น นิ้ว เป็นเมตร เป็นฟุต เป็นศอก หรือเป็นวา สร้างความสับสนให้คนทั่วไปอยู่บ้าง มีแต่คนที่คุ้นเคย หรือซื้อขายกันเป็นประจำเท่านั้นที่รู้

เรามาดูว่ามาตราวัดระยะของไทยสมัยก่อนเป็นอย่างไรบ้าง?

มาตราวัดระยะในยุคแรกๆ จะคิดเทียบมาจากร่างกายของมนุษย์ คือใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลางในการวัด ใช้ร่างกายเป็นตัวเทียบ เรียกว่าหน่วยร่างกาย คือจากนิ้ว ไปเป็นฝ่ามือ ฝ่ามือก็คือความกว้างของนิ้วทั้งสี่ที่เรียงชิดติดกัน จากฝ่ามือเมื่อกางนิ้วขยายออกเต็มที่ วัดจากปลายนิ้วหัวแม่มือ ไปยังปลายนิ้วก้อย ก็เรียกว่า คืบ ใช้คืบนี้วัดแขนจากปลายนิ้วกลางไปยังข้อศอก เรียกว่า ศอก และด้วยสัดส่วนของร่างกายมนุษย์พบว่า ความสูงของมนุษย์ จะเท่ากับสี่ศอก และยังเท่ากับความกว้างที่มนุษย์กางแขนออกทั้งสองข้าง นั่นคือ ความยาวที่ได้จากการวัดจากปลายนิ้วกลางซ้าย ผ่านไปยังปลายนิ้วกลางขวาจะมีค่าประมาณเท่ากับความสูงของคนคนนั้นนั่นเอง โดยเหตุนี้มนุษย์สามารถหาความสัมพันธ์ของระยะต่างๆ โดยเทียบจากตนเอง มีชื่อจากสรีระของตนเองเป็นหน่วย ทำให้เกิดความเชื่อมโยงเป็นระยะต่างๆ

ระยะ 1 ศอก ถ้าวัดแขนจากปลายนิ้วกลางไปยังข้อศอกของแต่ละคนไม่เท่ากัน ทำให้ไม่มีมาตรฐานกำหนดแน่นอนตายตัวว่ายาวเท่าใด มาประมาณกันในระยะหลังให้เป็นตัวเลขทศนิยมลงตัวว่า เท่ากับ 50 ซม.

ถ้าอยากรู้การชั่ง ตวง วัด ให้ถึงแก่นแท้ว่าเป็นอย่างไร ลองเข้าไปอ่านที่ เรื่องของการชั่งตวงวัดในสังขยาปกาสกฎีกา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


เมื่ออิทธิพลของอังกฤษในประเทศไทย มีมากขึ้น จึงใช้มาตรชั่งตวงวัดเป็นแบบอังกฤษ และในปัจจุบันใช้แบบฝรั่งเศส คือระบบเมตริก ซึ่งมีจำนวนหลักสิบสะดวกมาก แต่ในความเคยชินปัจจุบันจึงยอมรับทั้งสองระบบใช้ร่วมกันทั้งสองแบบ เช่น

ไม้ 1 1/2 นิ้ว x 8 นิ้ว x 3.00 เมตร และคิดปริมาตรเป็นลูกบาศก์ฟุต หรือเหล็ก เส้นผ่าศูนย์กลาง 1/2 นิ้ว ยาว 10.00 เมตร มีน้ำหนักเป็นกิโลกรัม เป็นต้น

เรือนไทย สมัยโบราณ มีขนาดต่างๆ กันเพราะมาตรฐานในการวัดระยะไม่แน่นอน การก่อสร้างบ้านทรงไทย จึงมีการ "ลักส่วน" และมีอิทธิผลของไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เป็นเหตุให้ขนาดของบ้านทรงไทย จะจัดให้ลงตัวตามมาตราเมตริก จึงทำได้ยาก เพื่อความสะดวกและเป็นมาตรฐานสากล จึงควรใช้มาตราเมตริกเป็นหลักและยอมปรับปรุงทรวดทรงความงานอื่นๆ ให้เป็นไปตามสะดวก

มาตราวัดปริมาตรของไม้ของประเทศไทยเคยคิดปริมาณของไม้ บอกลักษณะนามของปริมาตรเป็น "ยก" มีขนาดดังนี้

" ไม้ 1 ยก หมายถึง ไม้ที่ความหนา 1 นิ้ว กว้าง 24 นิ้ว ยาว 16 วา (ประมาณ 17.79 ลูกบาศก์ฟุต) "


การซื้อขายไม้ในปัจจุบัน สำหรับไม้ทั่ว ๆ ไป เช่นไม้เต็ง ไม้รัง ไม้แดง ไม้ตะเคียนแลอื่นๆ จะขายไม้หน้าตัดเป็นนิ้ว จะคิดความยาวเป็นเมตร แต่จะซื้อขายกันโดยคำนวณออกมาเป็น ลูกบาศก์ฟุต หรือคิวบิคฟุต ตัวอย่างเช่น

ไม้แดง ขนาด 1 นิ้ว x 6 นิ้ว ยาว 4 เมตร จำนวน 16 แผ่น จะมีราคาเท่าไร? สมมุติว่าราคาขายอยู่ที่ คิวบิกฟุต ละ 1200 บาท

ใช้สูตร:

ปริมาตรไม้ (คิวบิคฟุต) = หนา (นิ้ว) x กว้าง (นิ้ว) x ยาว (เมตร) x จำนวน (แผ่น) x 0.0228 x ราคา (บาท)
ปริมาตรไม้ (คิวบิคฟุต) = 1 x 6 x 4 x 16 x 0.0228 = 8.7552 คิวบิกฟุต
ไม้แดง ชุดนี้มีราคาทั้งหมด = 8.7552 x 1200 บาท = 10,506.24 บาท


สำหรับไม้สัก จะคิดความยาวเป็นฟุต และซื้อขายกันโดยคำนวณออกมาเป็น ลูกบาศก์ฟุต หรือคิวบิคฟุตเช่นกัน ตัวอย่างเช่น

ไม้สัก ขนาด 1 นิ้ว x 8 นิ้ว ยาว 6 ฟุต จำนวน 15 แผ่น จะมีราคาเท่าไร?
สมมุติว่าราคาขายอยู่ที่ คิวบิกฟุต ละ 1460 บาท

ใช้สูตร:

ปริมาตรไม้ (คิวบิคฟุต) = (หนา (นิ้ว) x กว้าง (นิ้ว) x ยาว (ฟุต) x จำนวน (แผ่น) x ราคา (บาท)) / 144
ปริมาตรไม้ (คิวบิคฟุต) = (1 x 8 x 6 x 15) / 144 = 5 คิวบิกฟุต
ไม้สัก ชุดนี้มีราคาทั้งหมด = 5 x 1460 บาท = 7,300 บาท


ที่มา : www.bansongthai.com

© 2017 บริษัท จิ๊กซอ วู้ดส์ จำกัด All Rights Reserved.